โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง อันตรายแค่ไหน

โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง เกิดจากสาเหตุใด ?
จากกรณีการเสนอข่าวเรื่องมีพยาธิสตรองจิลอยด์ (Strongyloidiasis) ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อถึงแก่ความตาย ในผู้ที่ไม่สวมรองเท้าชอบเดินเท้าเปล่า จากการที่มีพยาธิไชผิวหนังเข้าไปในร่างกายและเข้าสู่กระแสเลือด ลุกลามไปถึงอวัยวะสำคัญต่างๆ และเสียชีวิตในที่สุด โรคพยาธิชอนไชผิวหนัง เกิดจากพยาธิตัวกลมระยะตัวอ่อนที่สามารถไชเข้าสู่ผิวหนังได้ และพยาธิปากขอที่พบในสัตว์อย่าง แมว สุนัข วัว และควาย รวมไปถึงพยาธิเส้นด้ายของสัตว์

พยาธิ พบได้ที่ไหน ?
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พยาธิตัวอ่อนในระยะติดต่อพบในดินที่ชื้นแฉะที่ปนเปื้อนมูลสัตว์ และจะไชเข้าสู่ผิวหนังปกติ หรือผิวที่มีแผล ในคนที่เดินเท้าเปล่า หรือเด็กที่นั่งเล่นบนพื้นดิน หรือทรายบริเวณชายหาด

อาการของโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง
1. ผื่นขึ้นบริเวณมือ เท้าหรือก้นที่สัมผัสกับดินทรายโดยตรง
2. เห็นเป็นเส้นนูน แดง หรือตุ่มน้ำใส ขนาดประมาณ 3 มม. และอาจยาวถึง 20 ซม. คดเคี้ยวไปมาตามการไชของพยาธิ ซึ่งจะเคลื่อนที่ได้วันละ 2-3 มิลลิเมตร หรือหลายเซนติเมตร
3. มีอาการคันมาก อาการทางผิวหนังมักจะเกิดใน 1-5 วันหลังสัมผัส และคงอยู่ได้นาน 2-14 สัปดาห์หรือนานเป็นปี
4. อาการอื่น ๆ ที่อาจพบในผู้ป่วยบางราย เช่น อาการทางปอด เช่น ไอ หรือ ผื่นลมพิษ
สำหรับตัวจิ๊ดหรือตัวอ่อนของพยาธิจะเคลื่อนที่อยู่ในผิวหนังชั้นลึกๆ จะมีอาการบวมแดง อักเสบและปวด เมื่อพยาธิย้ายที่ไปมา แตกต่างกับกลุ่มพยาธิปากขอ ที่ไม่สามารถเติบโตในร่างกายคนได้ จึงทำได้เพียงแค่ไชอยู่ในผิวหนัง จนตายไปเอง หรือร่างกายเราสามารถกำจัดได้เองจากภูมิคุ้มกันหรือจากการรักษา

การรักษาโรคพยาธิชอนไชผิวหนัง
สำหรับการรักษาพยาธิ สามารถใช้ยาฆ่าพยาธิ ชนิด albendazole 400 มก.ต่อวัน นาน 3 วัน หรือ ivermectin รับประทานครั้งเดียว เป็นการรักษาที่ได้ผลดี เนื่องจากในประเทศไทยพบอัตราการเป็นโรคพยาธิปากขอสูงในแมวและสุนัข และสัตว์เลี้ยงทั้งสองก็มีมากในประเทศไทยทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ จึงมีโอกาสที่พยาธิปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมมาก การป้องกันที่ดีที่สุดคือ ไม่ให้พยาธิไชเข้าร่างกาย จะต้องสวมรองเท้าเวลาเดินเสมอ และหลีกเลี่ยงการนั่งหรือสัมผัสบนดิน ทราย ที่อาจมีการปนเปื้อนมูลสัตว์ และควรถ่ายพยาธิให้แมวและสุนัขเพื่อไม่ให้มีการแพร่ปรสิตสู่ดิน