เช็คสุขภาพก่อนวิ่งเพื่ออะไร

สำหรับผู้ที่กำลังจะเริ่มต้นออกกำลังกายด้วยการวิ่งนั้น ควรทำการตรวจสุขภาพก่อน เพราะจากเหตุการณ์ที่ผ่านมามักพบการที่เราไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ข้างหน้าได้ซึ่งจะพบกับนักวิ่งอยู่เสมอ คือการที่กำลังป่วยเป็นโรคบางอย่างอยู่ และเมื่อวิ่งทำให้อาการของโรคกำเริบจนเสียชีวติ โดยเฉพาะโรคหัวใจ ซึ่งหากใช้กำลังหรือออกแรงมากกว่าปกติจะส่งผลกับการเต้นของหัวใจ ทำให้เสียชีวิตจากหัวใจวายขณะวิ่งได้ ดังที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของนักวิ่งเอง ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนวิ่งอยู่เสมอ ด้วยเหตุผล 2 ข้อ ดังนี้

1. ค้นหาโรคร้ายที่ซ่อนอยู่
ในการตรวจสุขภาพนั้นแน่นอนว่าเป็นการเช็คทุกอย่างของร่างกายเราเพื่อทำการตรวจคัดกรองโรคทั่วไปที่อาจไม่สามารถตรวจพบได้ หรือไม่มีแสดงอาการออกมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะโรคหัวใจ ซึ่งการออกแรงมากเกินกว่าปกติต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจะส่งผลโดยตรงกับการเต้นของหัวใจทำให้หน้ามืด เป็นลม เเน่นหน้าอก ใจสั่น หรือเสียชีวิต รวมถึงโรคร้ายอื่นๆ เช่น โรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของนักกีฬาอาชีพ อย่าง ไมค์ เว็บสเตอร์ (Mike Webster) นักอเมริกันฟุตบอลผู้มีชื่อเสียง ที่ปฏิเสธการตรวจสุขภาพก่อนลงแข่ง

2. ประเมินความเสี่ยงของร่างกาย
ร่างกายของทุกคนมีพื้นฐานความแข็งแรงและอื่นๆ ที่แตกต่างกัน ดังนั้นร่างกายจึงสามารถรองรับหรือทนต่อสิ่งต่างๆ ได้แตกต่างกัน ดังนั้นในการวิ่งมาราธอนที่ต้องใช้กำลังกายและกำลังใจมาก โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่เคยลงสนามมาก่อน หรือพึ่งลงวิ่งมาราธอนเป็นครั้งแรก บอกกับสภาพอากาศที่ร้อนมากของประเทศไทยยิ่งทำให้การวิ่งนั้นหินมาก มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard University) ได้ทำการศึกษาวิจัย และพบว่า มีคนหนุ่มสาวเสียชีวิตขณะเล่นกีฬามากกว่า 200-300 คน ในทุกๆ ปี โดยสาเหตุการตายก็จะมี โรคหอบหืด โรคลมแดด ดังนั้นการหายใจให้เป็นจังหวะและดื่มน้ำให้เพียงพอในระหว่างวิ่ง รวมถึงหมั่นสังเกตอาการขณะวิ่ง ไม่ควรฝืนหากพบว่ามีอาการผิดปกติ การพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนออกวิ่งจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

เครียดทำไม ออกกำลังกายให้คลายเศร้า

ออกกำลังกายคลายเศร้าบรรเทาเครียด
เราสอนกันมานานแล้วว่า การออกกำลังกายเป็นแนวทางหนึ่งที่จะคงไว้ซึ่งร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ความอ้วน และโรคอื่นๆอีกสารพัด และนับวัน ผลการวิจัยยิ่งชี้ชัดว่า การออกกำลังกายช่วยลดอาการทางจิตได้หลายอาการ ไม่ว่าจะเป็นความเครียดหรือซึมเศร้า ทั้งยังป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้ด้วย
การออกกำลังกายไม่ได้หมายถึงการออกแรงอย่างหนัก เหงื่อตกมากๆ การออกกำลังกายที่ให้ผลทางสุขภาพจิตนั้นแม้เพียงแค่เดินปกติสัก 10 นาทีก็ได้ผลแล้ว เพราะเราไม่ได้มุ่งหวังจะลดน้ำหนักสัก 1 -2 กิโลกรัมที่ต้องวิ่งเป็นระยะทางไกลๆ วิ่งเร็วๆ ให้เหงื่อแตกพรั่กๆ

ในทางตรงกันข้าม การออกกำลังกายทางจิตวิทยานั้น หมายถึงการทำร่างกายให้แอคทีฟขึ้นเพื่อส่งผลให้ลดอารมณ์ทางด้านลบและเพิ่มอารมณ์ด้านบวกให้มากขึ้น และยิ่งมีการวางแผนให้เหมาะสมก็จะยิ่งได้ผลมากยิ่งขึ้นด้วย

แม้ว่า กลไกที่การออกกำลังกายส่งผลลดอาการ เศร้า เครียด กดดัน เหนื่อยล้าจิตใจ หงุดหงิดโมโห หรือแม้แต่สิ้นหวังนั้นยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่ในทางสรีรวิทยา การออกกำลังกายช่วยเพิ่มระดับของสารเคมีในสมอง หรือสารสื่อประสาทที่ปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น อย่างเช่น เอนดอร์ฟิน (endorphins) ช่วยคลายกล้ามเนื้อ หลับลึกขึ้น ลดฮอร์โมนความเครียด และมีผลให้จิตใจสงบขึ้น

ประโยชน์ในทางสุขภาพจิต

– เพิ่มความสำเร็จและความเชื่อมั่นในตนเอง
การออกกำลังกายเพิ่มความรู้สึกว่า เราทำอะไรได้สำเร็จและเมื่อต่อเนื่องนานๆ เข้าก็จะผันเป็นเพิ่มความเชื่อมันในตนเอง ดอกเตอร์คริสตินบอกว่า ความรู้สึกเชื่อมั่นมั่นใจในการเปลี่ยนแปลงตัวเองสำเร็จเป็นพลังด้านบวกที่จะโน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านบวกอื่นๆ ให้เกิดขึ้นตามมา เขายังอธิบายต่อไปว่า เวลาที่คนเราซึมเศร้า เรามักจะคิดว่า เราไม่มีแรง หรือพลังเพียงพอที่จะดูแลตัวเอง หรือรับผิดชอบอะไรต่อมิอะไร คนที่ซึมเศร้าจะขาดความเชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกขาดประสิทธิภาพ จึงทำให้ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นการได้ออกกำลังกายจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาสัมผัสความสำเร็จเล็กๆ ขั้นต้นได้อีกครั้งหนึ่งอันเป็นก้าวแรกของก้าวต่อๆ ไป

– หันเหความสนใจไปในทางบวก
เมื่อเวลาที่เราเศร้าหรือเครียด เรามักสนใจหมกมุ่นกับตัวเอง กับอาการ และผลของอาการ วนเวียนอยู่อย่างนั้น สิ่งนี้เป็นผลาญเวลาไปกับสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ นอกจากนั้นมันยังลดประสิทธิภาพในการขบคิดแก้ปัญหา ทำให้วงจรร้ายอันนี้ดำดิ่งยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้าม การออกกำลังกาย ทำให้เราหันเหความสนใจออกไปเรื่องอื่น ละความคิดในแง่ลบลง โฟกัสกับสิ่งหรือคนอื่นๆ บ้าง ยิ่งไปกว่านั้น การไปออกกำลังกายจะได้พบเห็นสิ่งต่างๆ พบผู้คน หรือการเปิดเพลงไปพร้อมๆ การออกกำลังกายก็ช่วยผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี

– เพิ่มความมีคุณค่าในตัวเอง
การออกกำลังกายช่วยฟื้นฟูอาการที่คิดว่าตัวเองไร้ค่าไร้ประสิทธิภาพ ออกกำลังกายแม้เพียงนิดก็ช่วยให้เรามองตัวเองดีขึ้น เห็นคุณค่าในตัวเรา และคิดที่จะทำตัวเราให้เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น

– จับคู่ในทางบวก
ในระหว่างการออกกำลังกายนั้น ร่างกายเรามีการเปลี่ยนแปลงของการหายใจ เหงื่อออก ชีพจรเร็วขึ้น อาการเหล่านี้คล้ายกับอาการที่เกิดเมื่อเวลาเราเครียด แต่อาการที่เกิดขณะออกกำลังกายเหล่านี้เกิดขึ้นคู่กับความรู้สึกดีๆ ทางจิตใจของการได้ออกกำลังกาย ดังนั้นโดยอัตโนมัติจิตใจของเราก็จะจับคู่อาการใจสั่น เหงื่อออก หายใจเร็วหรือขัด ไปในทางบวก ต่อต้านกับความรู้สึกเดิมๆ ทำให้เรามองหรือเห็นอาการทำนองนี้ไปในด้านบวกมากขึ้น ลดหรือเลิกกลัวกับอาการเหล่านี้ที่เดิมเคยคิดว่ามันเป็นความเครียด เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้โดยไม่กลัวมัน

– สิ่งแวดล้อมพร้อมสนับสนุน
การออกกำลังกายเปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อม ผู้คนแวดล้อมในทางบวก เพราะคนซึมเศร้ามักแยกตัวเอง การออกกำลังกายทำให้ได้พบปะผู้คน ยิ่งเป็นผู้คนที่ชอบออกกำลังกาย คนเหล่านี้อารมณ์แจ่มใสอยู่แล้ว รอยยิ้ม คำพูด เสียงหรือสิ่งต่างๆรอบตัวล้วนเสริมอารมณ์ให้แจ่มใสง่ายขึ้น

– ทักษะการคิดในทางบวก
การทำอะไรในทางบวกที่จะจัดความเครียดความเศร้าเป็นประสบการณ์ด้านบวก เป็นการเรียนรู้ว่าวิธีจัดการกับอาการเหล่านั้นทำได้ และสำเร็จด้วย เพราะแทนที่จะนั่งรอให้ความเครียดความเศร้ามันหายไปเอง การได้ช่วยตัวเองด้วยการออกกำลังกายจึงทักษะหรือประสบการณ์ในด้านบวกให้เพิ่มมากขึ้น

การฝืนความฝืด

แน่นอนครับ การลุกขึ้นมาออกกำลังกายสำหรับคนที่ไม่เคย ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นความฝืดที่ยิ่งใหญ่แบบหนึ่ง ข้างล่างนี้เป็นแนวทางบางประการที่จะช่วยลดความฝืดเหล่านั้นลงหาวิธีออกกำลังกายแบบที่เราสนุก ไม่ว่าจะเป็นชนิดของการออกกำลังกาย เวลาที่สะดวก สถานที่รู้สึกดีๆ กับคนที่ชอบ ฯลฯจะช่วยให้การออกกำลังกายสนุกขึ้นได้ ตั้งเป้าแบบที่เป็นไปได้ การตั้งเป้าแบบเริ่มต้นก็จะออกกำลังกายหนึ่งชั่วโมงต่อวันนั้น บางทีเป็นเป้าที่สูงเกินจริง ค่อยๆ เริ่มค่อยๆ ทำครับ อาจแค่วันละ 5 นาทีแล้วเพิ่มก็ได้ จะได้มีกำลังเพราะทำสำเร็จได้ง่าย

ซอยย่อยแผนการออกกำลังกาย สมมติว่า อยากออกกำลังกายให้ได้ 45 นาทีต่อวัน ให้แบ่งเป็น เดิน 10 นาที แกว่งแขน 5 นาที พัก 5 นาที วิ่งอีก 10 นาที ฯลฯ แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึงเป้าหมายที่เราตั้งไว้ เมื่อเราประสบความสำเร็จเล็กๆ ความสำเร็จที่ใหญ่กว่าก็อยู่ไม่ไกล ขอให้แค่เริ่มเท่านั้นอย่าคิดว่าการออกกำลังกายเป็นภาระ ให้คิดเสียว่า มันเป็นยาชนิดหนึ่งที่จะช่วยรักษาหลายโรค ทั้งยังลดความเฉื่อย เพิ่มความเชื่อมั่น เพิ่มการมองแง่บวก ฯลฯ

เตรียมพร้อมสำหรับอุปสรรค ใหม่ๆอาจมีเยอะ แต่พอผ่านพ้นไปทีละขั้นทีละน้อยมันจะน้อยไปเอง การแบ่งแผนการออกกำลังเป็นข้อย่อยๆ ช่วยให้เวลาที่เราทำไม่สำเร็จในขั้นใด จะไม่เสียหายไปทั้งหมด ไม่ต้องเริ่มใหม่หมด เราสามารถที่จะเริ่มต้นในจุดต่อไปได้ อย่างน้อยก็ไม่คิดว่ามันพังทั้งหมด

ยึดมั่นกับการแผนออกกำลังกาย

การเริ่มต้นเป็นสิ่งที่ยาก แต่การรักษาไว้ดูจะยากยิ่งกว่า ดังนั้นเราต้องเตรียมการเอาไว้ครับ เอาไว้แก้ไขสถานการณ์ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ฝนตก มีทางเลือกอื่นๆ ของการออกกำลังกายไหม หารองเท้าไม่เจอ ตื่นสาย ฯลฯ ต้องมีทางออกเอาไว้ การคิดถึงผลดีต่างๆ ในการออกกำลังกาย และสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในทางดีที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เรายึดอยู่กับออกกำลังกายได้นานขึ้น แรงผลักอื่นๆ ก็เช่นกัน ให้หามาเป็นแรงจูงใจให้ออกกำลังกายได้ต่อไป และอย่าลืมว่า ซอยย่อยแผนการออกกำลังกายเป็นขั้นเล็กๆ ช่วยให้เรื่องที่ฝืดลื่นขึ้น เมื่อล้มนิดล้มหน่อยจะลุกและก้าวต่อได้ง่ายขึ้นครับ

วิธีคลายกล้ามเนื้อหลังโยคะ

การปวดกล้ามเนื้อเป็นอาการที่ได้พบบ่อยหลังจากการออกกำลังกายประเภทใดๆ ก็ตาม โดยอาจเกิดขึ้นเพราะคุณเพิ่งเริ่มออกกำลังกายเป็นครั้งแรก หรือเพิ่งเปลี่ยนไปออกกำลังกายประเภทอื่นเป็นครั้งแรก โดยอย่างยิ่ง ถ้าใครเคยเล่นโยคะเป็นครั้งแรก จะรู้ดีว่า วันรุ่งขึ้นจะรู้สึกปวดร้าวไปทั้งตัว ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ วันนี้ ขอนำเสนอ วิธีคลายกล้ามเนื้อหลังจากเล่นโยคะมาฝากค่ะ

ทำไมรู้สึกปวดเมื่อยหลังจากเล่นโยคะ
การปวดกล้ามเนื้อหลังจากการออกกำลังกายประเภทใดๆ ก็ตาม เกิดจากกล้ามเนื้อทำงานหนัก ซึ่งทำให้เกิดการฉีกขาดในระดับเนื้อเยื่อ (microscopic tears) แต่กล้ามเนื้อก็มีกระบวนการรักษาตัวเอง ที่เรียกว่าการฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อเติบโต และเริ่มแข็งแรงมากขึ้น

กล้ามเนื้อจะค่อยๆ ซ่อมแซมตัวเองระหว่างการออกกำลังกาย ในกรณีที่คุณเพิ่งเริ่มเล่นโยคะ และฝึกโยคะทุกวัน เราแนะนำว่าคุณควรหาวันพักสัก 1 วัน เพื่อให้เวลาร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเองและฟื้นฟูกล้ามเนื้อบ้าง การเหยียดกล้ามเนื้อในขณะที่ร่างกายคุณไม่มีความยืดหยุ่นพอจะทำให้คุณปวดกล้ามเนื้อเช่นกัน

ในการเล่นโยคะ มีท่าต่างๆ ที่คุณต้องเหยียดยืดร่างกายในลักษณะที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน การใช้กล้ามเนื้อและระยะในการเคลื่อนไหว จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดแรงดึงที่เอ็นยึดกล้ามเนื้อและข้อต่อได้ด้วย

ยิ่งปวดยิ่งดีต่อกล้ามเนื้อ
อาการปวดกล้ามเนื้อจากการเริ่มเล่นโยคะโดยทั่วไปนั้นเกิดขึ้นเพียงครั้งคราว และไม่ถือว่ามีอันตรายใดๆ ถ้าหากคุณไม่หักโหมมากเกินไป หรือเหยียดกล้ามเนื้อเกินกว่าระดับความยืดหยุ่นของคุณจะรับไหว

ความปวดเมื่อยเป็นสัญญาณที่กำลังบอกว่าคุณเริ่มแข็งแรงขึ้น และร่างกายมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าคุณสามารถเพิ่มระดับความท้าทายขึ้นไปอีกได้ถ้าต้องการ ดังนั้น ความเจ็บปวดเมื่อเริ่มเล่นโยคะ ดูจะเป็นสิ่งเล็กน้อยที่แลกกับประโยชน์ทางสุขภาพในระยะยาว จริงมั้ยคะ

นอกจากนี้ งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2003 ใน Indian Journal of Physiology and Pharmacology ยังพบข้อมูลว่าคนที่มีอายุเกิน 40 ปี และฝึกเล่นโยคะมากกว่า 5 ปี จะมีอัตราชีพจรขณะพัก และระดับความดันโลหิตที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้มีกิจกรรมเคลื่อนไหวในแต่ละวัน แสดงให้เห็นว่าการเล่นโยคะนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวมอย่างเห็นได้ชัด

การบำบัดด้วยตัวเอง
อาการปวดกล้ามเนื้อส่วนใหญ่หลังเล่นโยคะสามารถหายดีได้ด้วยการบำบัดด้วยตัวเองและไม่ต้องพึ่งคุณหมอค่ะ ต่อไปนี้ เป็นเคล็ดลับที่มีประโยชน์ที่จะช่วยให้คุณสามารถแก้ปัญหาปวดกล้ามเนื้อได้ด้วยตัวเองค่ะ

นวดบริเวณที่ปวดเบาๆ ด้วยน้ำมัน
การนวดเป็นเทคนิคโบราณที่มหัศจรรย์ซึ่งใช้เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและบรรเทาความเจ็บปวด การนวดช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดที่ก่อตัวขึ้นในกล้ามเนื้อและช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและทำให้หายปวดเร็วขึ้น

การประคบร้อน
การอาบน้ำอุ่นหรืออบไอน้ำสามารถขจัดความเจ็บปวดออกจากร่างกายของคุณอย่างได้ผลดีมาก ความร้อนจะช่วยลดความแข็งติดของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายมากขึ้นและลดความเจ็บปวดลง นอกจากนี้ ความร้อนจะเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังบริเวณที่ปวดและขจัดพิษที่สะสมออกไป ซึ่งเป็นการเร่งกระบวนการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว

การเติมดีเกลือ (Epsom salt) ลงในน้ำสำหรับอาบเป็นวิธีหนึ่งที่จะเพิ่มประโยชน์ของการประคบร้อนที่มีต่อสุขภาพได้มากขึ้นไปอีก เพราะดีเกลือจะช่วยผ่อนคลายระบบประสาท ลดความตึงของกล้ามเนื้อและดูดพิษต่างๆ จากร่างกาย

การใช้ยาแก้ปวด
ยาแก้ปวดจะบรรเทาความเจ็บปวดและการอักเสบของกล้ามเนื้อได้ การซื้อยาแก้ปวดมากินเองก็ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าความเจ็บปวดยังไม่บรรเทาหลังจากใช้วิธีแบบธรมชาติ เช่น การนวด หรืออาบน้ำอุ่นแล้ว

และถ้าทำทุกยอ่างตามวิธีข้างต้นแล้ว ยังไม่สามารถบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ที่เกิดขึ้นได้ เราแนะนำให้คุณปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาว่าคุณได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อชั้นลึกหรือไม่

ถุงน้ำแข็ง
การประคบถุงน้ำแข็งบริเวณขาข้างที่เจ็บใน 2 วันแรกจะช่วยบรรเทาความปวดกล้ามเนื้ออย่างได้ผล และหลังจาก 48 ชั่วโมงแรก ให้ใช้วิธีการแช่น้ำอุ่นที่ผสมดีเกลือตามหลังจากประคบเย็น ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดส่วนที่เหลือได้

นอกจากนี้ จากข้อมูลของนิตยสาร Yoga Journal ยังได้แนะนำด้วยว่าการใช้ยาหม่อง ที่เรารู้จักกันดีและหาซื้อได้ง่าย ก็สามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวดกล้ามเนื้อได้เช่นกัน

อย่างก็ไรตาม ควรปรึกษาแพทย์ถ้าเป็นความเจ็บปวดแบบฉับพลันและเป็นนานแบบเรื้อรัง และอย่าลืมขอความเห็นชอบจากแพทย์ก่อนใช้การบำบัดด้วยสมุนไพรเองด้วยนะคะ

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ถ้าอาการเจ็บปวดแย่ลงหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาใดๆ ให้ติดต่อแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าอาการของคุณเป็นเพียงเป็นการบาดเจ็บธรรมดาหรือเป็นปัญหาที่ร้ายแรงกว่านั้น